ปัญหาการปะทะกับช้างป่า เป็นสิ่งที่เราพบเห็นได้ตามหน้าข่าวอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นการออกนอกพื้นที่ป่าแล้วเข้ามายังเขตชุมชน ถนน พื้นที่การเกษตร หรือการพบช้างป่าในขณะที่เดินป่าหรือกางเตนท์นอนในป่า หลายครั้งทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สิน และความสูญเสียต่อชีวิตของช้างหรือคน
วันนี้ขอนำเสนอความรู้เกี่ยวกับช้าง และข้อควรปฏิบัติหากเผชิญหน้ากับช้างป่า
🐘 ทำความรู้จักกับช้าง 🐘
ช้างที่พบในประเทศไทยเป็นช้างเอเชีย (Asian elephant; Elephas maximus) ช้างป่าเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ปัจจุบันอยู่ในสถานภาพมีความเสี่ยงสูงที่จะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ (Endangered) ตามสถานภาพของ IUCN Red list และจัดอยู่ในบัญชีหมายเลข 1 (Appendix I) ของอนุสัญญา CITES ช้างมีลำตัวมีสีเทา ช้างตัวผู้บางตัวมีงายาว (ช้างพลาย) บางตัวไม่มีงา (ช้างสีดอ) ช้างตัวเมียส่วนใหญ่ไม่มีงา (ช้างพัง) ช้างมีน้ำหนักเฉลี่ย 2,000 – 4,500 กิโลกรัม มีความสูงประมาณ 2.5 – 3 เมตร ช้างเป็นสัตว์ที่มีสายตาไม่ค่อยดีและมีลักษณะการมองเห็นเป็นตาบอดสีแดงและเขียว แต่ช้างยังสามารถจำแนกหรือมองเห็นแม่สีหลักอื่น ๆ เช่น สีน้ำเงิน และสีเหลืองได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ช้างมีประสิทธิภาพการได้ยินและการดมกลิ่นที่ดีเยี่ยม ช้างสามารถอาศัยอยู่ได้ในพื้นที่หลายประเภท ตั้งแต่ทุ่งหญ้าไปจนถึงป่าที่รกทึบ ช้างนอนช่วงกลางคืนวันละ 1 – 2 ครั้ง ครั้งละ 1 – 3 ชั่วโมง ลักษณะการนอนจะอยู่ในท่ายืน ลำตัวโอนเอน และแกว่งงวงไปมาเพียงเล็กน้อย มักไม่พบช้างนอนในเวลากลางวัน ส่วนมากช้างจะใช้เวลากลางวันในการกินอาหารและทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ลงเล่นน้ำ เดินหาอาหาร แหล่งน้ำหรือแหล่งดินโป่ง ช้างเป็นสัตว์สังคม โขลงช้างประกอบด้วยช้างตัวเมียที่เป็นญาติพี่น้องกันและลูกช้าง ช้างเพศเมียที่อาวุโสที่สุดเรียกว่า แม่แปรก เป็นผู้นำในการพาช้างสมาชิกออกหาอาหาร แหล่งน้ำ ดินโป่งหรือพาหนีจากศัตรู ช้างในแต่ละโขลงมีสมาชิกเฉลี่ย 6 – 7 ตัว การพบช้างป่า 1 ตัว จึงอาจหมายถึงการมีช้างป่าตัวอื่น ๆ อยู่ในพื้นที่ก็เป็นได้
🟧 วิธีปฏิบัติเมื่อพบช้างป่า
🔸 สังเกตอารมณ์ของช้าง
ช้างอารมณ์ดีหูจะสะบัดไปมา หางจะแกว่งและใช้งวงสะบัดไปมาหรือเกี่ยวดึงต้นไม้กิน ไม่ค่อยสนใจเรา เมื่อช้างอารมณ์ไม่ดี หูจะตั้งกาง งวงและหางจะหยุดแกว่ง พร้อมจ้องมองมาทางเรา บางครั้งช้างจะชูงวงขึ้นพร้อมกับยืดโน้มตัวให้สูงขึ้นไปด้านหน้า
🔸 เมื่อเผชิญหน้ากับช้าง
หากบังเอิญเจอช้างป่า ไม่ควรเข้าไปมุงดู ถ่ายภาพ สาดแสงไฟ หรือบีบแตรใส่ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ช้างตกใจหรือโมโห และจะเข้ามาหาคน พยายามถอยให้ห่างจากบริเวณที่พบช้าง โดยสังเกตตำแหน่งของช้างไว้ตลอด อย่าหันหลังให้ช้าง ช้างป่าสามารถวิ่งได้เร็วมากถึง 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การวิ่งหนีไปด้านหน้าอย่างเดียวหรือเลี้ยวเป็นมุมฉากไม่ทำให้หนีทัน หากพบว่าช้างป่าเข้าจู่โจมและต้องวิ่งหนี ห้ามวิ่งเป็นเส้นตรง ให้วิ่งตัดเฉียง 45 องศาไปในทิศทางข้างหน้า และเปลี่ยนทิศทางซิกแซก เนื่องจากช้างจะใช้เวลาในการหมุนตัวหรือเปลี่ยนทิศทาง การวิ่งตัดเฉียงจะทำให้เราสามารถหลบช้างได้ หากช้างจู่โจมเข้ามาในระยะใกล้มาก ให้ทิ้งสิ่งของที่ไม่จำเป็น เช่น กระเป๋าเป้ กระเป๋าสะพาย นอกจากจะทำให้เราสามารถเคลื่อนที่ได้สะดวกมากขึ้นแล้ว สิ่งของที่ทิ้งไปยังสามารถดึงดูดความสนใจและช่วงถ่วงเวลาได้อีกด้วย
หากพบช้างในพื้นที่ที่มีต้นไม้มาก เมื่อวิ่งไประยะหนึ่ง ให้หาที่กำบัง เช่น หลบต้นไม้ใหญ่ กองหิน กองดิน หรือปีนขึ้นต้นไม้ที่สูงและแข็งแรง รอจนช้างป่าผ่านไปหรือละความสนใจจึงค่อยออกมา
🔸 กรณีขับรถยนต์
หากต้องขับรถเข้าไปในพื้นที่ที่มีช้างป่า ให้ใช้ความระมัดระวังในการขับรถ ถ้าเจอช้าง ห้ามจอดรถดู ให้ขับผ่านไปเลย ไม่ลงไปถ่ายรูป อย่าทำสิ่งที่จะเรียกความสนใจจากช้าง เช่น บีบแตร เร่งเครื่อง เปิดที่ปัดน้ำฝนหรือทำอะไรก็ตามที่ผิดปกติ หากขับช่วงกลางคืนและเปิดไฟหน้าไว้ ไม่ต้องปิดไฟ ห้ามใช้แฟลชถ่ายรูป เพราะอาจทำให้ช้างตกใจและตรงเข้ามาทำร้ายได้ สังเกตว่าช้างมีอารมณ์ยังไง เช่น พบว่าช้างยืนกินใบไม้ข้างทาง แกว่งหาง นั่นหมายถึงช้างอยู่ในสภาวะปกติให้ขับผ่านไปช้า ๆ รถคันที่ขับผ่านไปแล้วห้ามหยุดดู เพราะว่าจะทำให้กีดขวางรถคันอื่นที่จะตามมาได้จนอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุรถชนกัน หากพบช้างขวางทาง ให้หยุดรถให้ห่างจากช้างอย่างน้อย 50 เมตร หากช้างเดินเข้าหา ให้ถอยรถหนีรอจนกว่าช้างจะหลบจากถนนจึงขับรถผ่านไป ให้ติดเครื่องรถยนต์ไว้เสมอเพื่อให้พร้อมต่อการหนี หากช้างอยู่ในระยะประชิดและไม่สามารถขับรถหนีได้ทัน ให้ล็อคประตูและอยู่นิ่ง ๆ หากยังไม่ดับเครื่องยนต์ก็ไม่ต้องไปดับ รอให้ช้างผ่านไปสักระยะหนึ่งจึงขับรถออกจากพื้นที่
🟧 สรุป
ช้างป่าแต่ละพื้นที่อาจมีพฤติกรรม การรวมฝูง เส้นทางหากินที่แตกต่างกัน ควรสอบถามเจ้าหน้าที่ก่อนเข้าในพื้นที่นั้น ไม่ว่าจะเป็นช้างป่าหรือช้างเลี้ยง เราก็ไม่ควรเข้าไปใกล้ช้างตามลำพัง หากต้องการให้อาหารช้างเลี้ยงหรือทำกิจกรรมใด ๆ กับช้างเลี้ยงก็ตาม ต้องจำให้ขึ้นใจว่าจะต้องมีควาญช้างอยู่ด้วยเสมอ เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง ส่วนช้างป่า เป็นสัตว์ป่าที่สามารถทำอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ หากจะเข้าไปในพื้นที่ควรศึกษาข้อมูลก่อน และหากพบช้างป่าในถนนหรือพื้นที่ชุมชน ควรแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าดำเนินการ และหนีออกมาจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด
ข้อมูล : ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามโรคจากสัตว์ป่า สัตว์ต่างถิ่นและสัตว์อพยพ (MoZWE)
รูปภาพ : เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าบุณฑริก-ยอดมน จังหวัดอุบลราชธานี
#สัตว์ป่า #ช้างป่า #DNP9NEWS #กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม #กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช #สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่๙อุบลราชธานี #สบอ9 #สบอ9อุบลราชธานี #dnp9
