วันนี้ (20 ธ.ค. 65) เวลาประมาณ 09.00 น. นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 ได้รับรายงานจากส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า ว่าลูกเสือโคร่ง ชื่อ “ข้ามแดน” ที่ได้ตรวจยึดจากการลักลอบค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ได้เสียชีวิตแล้ว ในเวลา 07:15 น ของวันนี้ ซึ่งทางคลินิกสัตว์ป่า ได้พยายามช่วยเหลือลูกเสือโคร่งอย่างสุดความสามารถ พร้อมได้ขอความอนุเคราะห์นายสัตวแพทย์จากสวนสัตว์อุบลราชธานีในการช่วยเหลือครั้งนี้ ตั้งแต่เวลา 03:30 น ด้วยเช่นกัน
โดยนายชัยวัฒน์ฯ ได้สอบถามถึงสาเหตุการตายของลูกเสือโคร่ง “ข้ามแดน” จากนายสัตวแพทย์สุภัทรพรณพรรณ ขุนทวี ตำแหน่ง นายสัตวแพทย์ 6 จากสวนสัตว์อุบลราชธานี ได้รายละเอียดว่า
จากผลการเอกซเรย์ (X-ray) พบว่า
“ปอดอักเสบซึ่งคาดว่าอาจเกิดจากสภาพอากาศเย็น ในช่วง 3-4 วัน ก่อนอุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็ว และพบว่าช่องท้องมีแก๊สจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าลูกเสืออาจจะปวดท้องหนักมาก แต่หากจะหาสาเหตุที่แน่ชัดจะต้องผ่าพิสูจน์ต่อไป”
พร้อมนี้ได้มีการเอกซเรย์ (X-ray) ลูกเสืออีก 3 ตัว พบว่าปอด ทั้ง 3 ตัว เป็นปกติ แต่ช่องท้องพบว่าเริ่มมีแก๊สในกระเพาะอาหารบ้างแล้ว
วิธีป้องกันคือ ให้ลูกเสือโคร่งมีกิจกรรมหลังดื่มนมมากขึ้น เช่น การให้ลูกเสือออกเดินเล่นมากขึ้น และลดปริมาณนมแต่ละครั้ง เพิ่มช่วงเวลาการให้แทน
ลูกเสือข้ามแดน เป็นลูกเสือขณะที่ตรวจยึดได้มานั้น ตรวจสอบเบื้องต้น น่าจะมีอายุมากที่สุด เพราะขนาด/ลักษณะของฟัน ยาวกว่าตัวอื่นๆ และน้ำหนักจะมากกว่าตัวอื่น
แต่หลังจากนำมาดูแล เจ้าลูกเสือข้ามแดน กลับกินน้ำนม น้อยกว่าตัวอื่นๆ และโตช้ากว่าตัวอื่นๆ มีอาการซึมไม่ขี้เล่น เหมือนตัวอื่นๆ
และช่วงก่อนหน้านี้ ที่จ. อุบลราชธานี สภาพอากาศเย็นลงมากอย่างรวดเร็ว เจ้าลูกเสือข้ามแดน มีอาการซึมไม่เล่น และป่วย ส่วนเจ้าหน้าที่ ได้เฝ้าระวังเป็นพิเศษ ในวันงานคุ้มครองสัตว์ป่าฯ ช่วงวันที่ 17-19 ธันวาคม 2565 จึงได้งด นำเจ้าเสือสี่ตัวออกมาด้านนอกอาคาร เพื่อไม่ให้โดนลม ในวันที่ 18 และ 19 ธันวาคม 2565 ดังกล่าว
การสูญเสียเจ้าข้ามแดน ลูกเสือที่ถูกพรากจากพ่อแม่ของพวกลูกเสือแล้ว และยังเสียชีวิต จากการเจ็บป่วย เจ้าหน้าที่ สัตวแพทย์ ทุกนาย ก็รู้สึกเสียใจ เช่นกัน
เนื่องจากนับตั้งแต่วันที่ได้ตรวจยึดลูกเสือโคร่งทั้ง 4 ตัว เจ้าหน้าที่และนายสัตวแพทย์ทุกนายได้ดูแลอนุบาลลูกเสือโคร่งและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง แต่ลูกเสือโคร่งต้องถูกพรากจากแม่ตั้งแต่ยังเล็กมาก ความแข็งแรงทางร่างกายและภูมิคุ้มกันโรคจึงอาจไม่เทียบเท่ากับการได้รับน้ำนมจากแม่เสือโคร่งเอง
ทั้งนี้ นายชัยวัฒน์ฯ ได้มอบหมายให้นางสาวคชรินทร์ ราชสินธุ์ นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ เป็นผู้ควบคุมดูแลการผ่าซากลูกเสือโคร่ง “ข้ามแดน” เพื่อพิสูจน์ทราบการตายที่แท้จริง และกำชับให้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลลูกเสือโคร่งอีก 3 ตัวอย่างใกล้ชิดพร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำของนายสัตวแพทย์สวนสัตว์อุบลราชธานี