เช็กเลย ถุงพลาสติก 36 ไมครอน ดูอย่างไร? ใช้ซ้ำยาก มีความบาง รีไซเคิลไม่ได้ แถมปลิวได้ง่าย โปรดสังเกตุความหนาบนฉลากแพ็คก่อนซื้อ
เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงวันที่ 5 เมษายน 2565 ห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟมและบรรจุภัณฑ์พลาสติก (ถุงพลาสติก)ชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single – use plastics) เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ
ตามประกาศ ระบุว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พิจารณาแล้ว เพื่อเป็นการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครองดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปะการัง ระบบนิเวศ และเป็นการควบคุมลดปริมาณขยะในอุทยานแห่งชาติ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ประกอบข้อ 6 ของระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2563
รวมทั้งมาตรา 32แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 จึงออกประกาศไว้ ดังนี้
1. ห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟม และบรรจุภัณฑ์พลาสติก (ถุงพลาสติก) ชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single – use plastics) ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้ว ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องบรรจุอาหารพลาสติกแก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) หลอดพลาสติก และช้อน – ส้อมพลาสติก เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ
หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- งานวิจัยพบ มนุษย์อาจบริโภคพลาสติก 5 กรัมต่อสัปดาห์โดยไม่รู้ตัว
- รวมข่าวสิ่งแวดล้อมประจำเดือนมีนาคม 2565
- ทุบสถิติ! ขั้วโลกใต้ จุดเย็นที่สุด ร้อนขึ้น38 องศา °C ปัญหาโลกร้อนกำลังแย่
2. ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565
ธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ด้าน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้เคยโพสต์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับถุงพลาสติกเมื่อปี 2019 โดยระบุว่า…ถุงพลาสติกที่มีความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอนจะถูกเลิกใช้ในไทยภายในปี 2565 โดยเป็นหนึ่งใน 7 พลาสติกที่อยู่ในข่ายเลิกใช้ 7 ชนิด ได้แก่ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (Capseal), ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมของสารประเภทอ็อกโซ่ (oxo), ไมโครบีดจากพลาสติก (Microbead) จะเลิกใช้ปี 2562
ส่วนถุงพลาสติกหูหิ้วขนาดความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน, กล่องโฟมบรรจุอาหาร เลิกใช้ปี 2565 และแก้วน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวกับหลอดพลาสติกจะมีการเลิกใช้ปี 2565
มาเริ่มต้นลดการใช้พลาสติกที่มีความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน ตั้งแต่ตอนนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมของเราในอนาคต