กวางผาจัดเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดกลางซึ่งอยู่ในวงศ์ Bovidae คือเป็นสัตว์ที่มีเขา 2 เขาทั้งสองเพศ ไม่สามารถผลัดเขาได้ โดยลักษณะของเขาจะมีลักษณะเป็นกรวยแหลมตรงกลางกรวยจะกลวง เขาจะโค้งไปทางด้านหลัง แต่จะไม่แตกกิ่งเหมือนกับกลุ่มของกวาง ตรงบริเวณโคนเขาจะมีรอยหยักเกิดขึ้นตามอายุของกวางผา #กวางผาเป็นสัตว์กีบคู่มีลักษณะใกล้เคียงกับเลียงผาทั้งรูปร่างและอุปนิสัยในการหากิน
กวางผาถูกค้นพบครั้งแรก ปี พ.ศ. 2368 ในแถบเทือกเขาหิมาลัย ประเทศเนปาล มีลักษณะคล้ายแอนติโลพหรือแพะแบล็กบั๊ก (Blackbuck) ของอินเดีย จึงได้รับการจำแนกและตั้งชื่อเป็น 𝘈𝘯𝘵𝘪𝘭𝘰𝘱𝘦 𝘨𝘰𝘳𝘢𝘭 Hardwicke, 1825 ต่อมาพบว่ามีลักษณะและนิสัยแตกต่างกันเด่นชัด จึงจัดจำแนกออกเป็นสกุลใหม่ในปี พ.ศ. 2370 คือ 𝘕𝘢𝘦𝘮𝘰𝘳𝘩𝘦𝘥𝘶𝘴 H. Smith, 1827
ปัจจุบันได้มีการตรวจสอบพิจารณารูปร่างลักษณะและเขตการกระจายพันธุ์ พบว่า กวางผาในบางแหล่งมีความแตกต่างกันเด่นชัด จำแนกได้เป็น 4 ชนิด ไม่รวมเลียงผา คือ
■ กวางผาโกราลหรือกวางผาหิมาลายัน (Himalayan Goral) ชื่อวิทยาศาสตร์ 𝘕𝘢𝘦𝘮𝘰𝘳𝘩𝘦𝘥𝘶𝘴 𝘨𝘰𝘳𝘢𝘭 (Hardwicke, 1825) เป็นกวางผาในแถบ เทือกเขาหิมาลัย บริเวณอินเดีย เนปาล ภูฎาน และตอนเหนือของปากีสถาน
■ กวางผาสีเทาหรือกวางผาขนยาว (The Long-tailed Goral, Grey Goral) ชื่อวิทยาศาสตร์ 𝘕𝘢𝘦𝘮𝘰𝘳𝘩𝘦𝘥𝘶𝘴 𝘤𝘢𝘶𝘥𝘢𝘵𝘶𝘴 (Milne-Edwards, 1867) เป็นกวางผาที่พบทางบริเวณตะวันออกของรัสเซีย จีนและเกาหลี
■ กวางผาแดง (The Red Goral) ชื่อวิทยาศาสตร์ 𝘕𝘢𝘦𝘮𝘰𝘳𝘩𝘦𝘥𝘶𝘴 𝘣𝘢𝘪𝘭𝘦𝘺𝘪 Pocock, 1914 พบในเขตยูนานของจีน ทิเบต อินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ และทางเหนือของพม่า
■ กวางผาจีน (The Chinese Goral) N. swinhoei (Gray, 1862) เป็นกวางผาจีน ชื่อวิทยาศาสตร์ 𝘕𝘢𝘦𝘮𝘰𝘳𝘩𝘦𝘥𝘶𝘴 𝘨𝘳𝘪𝘴𝘦𝘶𝘴 Milne-Edwards, 1871 เป็นกวางผาที่พบในพม่า จีน อินเดีย ไทย และอาจพบได้ในลาว
สำหรับกวางผาของไทย หรือ Chinese goral มีชื่อวิทยาศาสตร์ 𝘕𝘢𝘦𝘮𝘰𝘳𝘩𝘦𝘥𝘶𝘴 𝘨𝘳𝘪𝘴𝘦𝘶𝘴 Milne-Edwards, 1871 ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นจากตัวอย่างต้นแบบที่ได้จากมณฑลเสฉวนของประเทศจีน ในปี พ.ศ. 2415 เมื่อตรวจสอบแล้ว พบว่าเป็นชนิดเดียวกับกวางผาจีน ชื่อที่ใช้จึงเป็นชื่อพ้องซ้ำที่ตั้งขึ้นภายหลังตามบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
สถานภาพของกวางผาระดับโลกตาม IUCN จัดกวางผาจีน ไว้ในสถานภาพ “มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์” (Vulnerable : VU) โดยมีการประเมินประชากรกวางผาจีนว่ามีแนวโน้นลดลงจากการถูกล่า #ส่วนในการจัดสถานภาพของประเทศไทยจัดกวางผาไว้ในสถานภาพ “ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง” (Critically Endangered: CR) โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ข่าวประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช – 29 พ.ย.2565
ข้อมูล : กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า Wildlife Research Division กรมอุทยานฯ