สรรพคุณของชุมเห็ดเทศ หรือขี้เหล็กเทศ
1.ชาวเขาเผ่าอีก้อ กะเหรี่ยงและลีซอ จะใช้รากหรือทั้งต้นขี้เหล็กเทศ นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงร่างกาย (ราก, ทั้งต้น)
2.ใช้เป็นยาบำรุง บำรุงธาตุ รักษาโรคเกี่ยวกับหัวใจ ด้วยการใช้เมล็ดที่นำมาคั่วให้จนหอมเกรียมแล้ว นำมาชงกับน้ำกิน (เมล็ด)
3.เปลือกต้นใช้ชงกับน้ำกินเป็นยารักษาโรคเบาหวาน (เปลือกต้น)
4.ใช้ลดความดันโลหิต ด้วยการใช้เมล็ดคั่ว นำมาบดเป็นผงกินครั้งละ 3 กรัม วันละ 3 ครั้ง หรือชงกับน้ำผสมกับน้ำตาลกรวดพอสมควร ใช้ดื่มแทนน้ำชาเป็นประจำก็ได้ (เมล็ด)
5.ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้รากขี้เหล็กเทศ นำมาผสมกับข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว เครือข้าวเย็น ต้นกระไดลิง ต้นมะกอกเผือก รากกรามช้าง รากเกล็ดลิ่น รากงิ้ว รากถั่วพู รากชุมเห็ดเทศ รากแตงเถื่อน รากปอขาว และรากฟักข้าว ใช้ฝนกับน้ำซาวข้าวกินเป็นยารักษารำมะนาด (ราก)
6.ใบใช้ตำพอกแก้ปวดศีรษะ ปวดฟัน (ใบ) หรือจะใช้ฝักและเมล็ดหรือทั้งต้นและใบนำมาต้มกับน้ำกินก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการปวดศีรษะได้เช่นกัน (ฝักและเมล็ด, ทั้งต้นและใบ) จากการใช้รักษาอาการปวดศีรษะเรื้อรัง โดยใช้ใบสดประมาณ 20 กรัม และเนื้อหมูอีก 250 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินวันละ 1 ตำรับ จากการรักษาคนไข้จำนวน 42 ราย พบว่าได้ผล 36 ราย ส่วนที่เหลืออีก 6 ราย ไม่ได้ผล และจากการติดต่อสอบถามคนไข้ที่หายจากอาการปวดศีรษะเรื้อรังมาแล้วครึ่งปี ยังไม่ปรากฏว่ามีอาการเดิมอีก (ใบ)
7.ฝักและเมล็ดมีรสขมชุ่มใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้วิงเวียน (ฝักและเมล็ด)
8.ฝักและเมล็ด ใช้เป็นยาทำให้ตาสว่าง รักษาอาการตาบวมแดง (ใบ, เมล็ด)
9.ใช้เป็นยาแก้ตาแดงตาอักเสบ (ฝักและเมล็ด, ทั้งต้นและใบ)
10.ใช้รักษาตาแดงบวมเห็นพร่ามัว ด้วยการใช้เมล็ดแห้ง 15-30 กรัม ผสมกับน้ำตาลกรวดประมาณ 30 กรัม แล้วชงกับน้ำกิน (เมล็ด)
11.ตำรายาพื้นบ้านจะใช้รากขี้เหล็กเทศ นำมาฝนกับน้ำใช้หยอดรักษาแผลในหู (ราก)
12.รากใช้เป็นยาเย็นดับพิษร้อนในร่างกาย (ราก)
13.รากหรือทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย (ราก, ทั้งต้น) ส่วนยาชงจากเปลือกต้นหรือรากก็ใช้เป็นยารักษาไข้มาลาเรียได้เช่นกัน (เปลือกต้น, ราก) หรืออีกวิธีให้ใช้เมล็ดที่คั่วจนเหลืองแล้ว นำมาบดให้เป็นผง ใช้ประมาณ 6-9 กรัม ชงกับน้ำกินวันละ 2 ครั้ง (เมล็ด)
14.ตำรายาไทยจะใช้ใบขี้เหล็กเทศเข้าตำรายาเขียว แก้ไข้ (ใบ) หรือจะใช้เมล็ดคั่วนำมาชงกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ก็ได้ (เมล็ด)
15.ใช้เป็นยาแก้ไอหอบหืด แก้ร้อนในปาก (ใบ, เมล็ด) หรือจะใช้ทั้งต้นและใบเป็นยาแก้หอบ รักษาอาการไอก็ได้ (ทั้งต้นและใบ)
16.ฝักและเมล็ดใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาบำรุงกระเพาะอาหาร แก้ปวดกระเพาะอาหาร ช่วยรักษาระบบการย่อยอาหารไม่ดี ทำให้การขับถ่ายดี (ฝักและเมล็ด)
17.ใบใช้เป็นยาแก้ลมจุกเสียด แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ (ใบ, เมล็ด)
18.ราก เมล็ด หรือทั้งต้นและใบใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ปวดท้อง (ราก, เมล็ด, ทั้งต้นและใบ)
19.ฝักและเมล็ดใช้เป็นยาแก้ปวดท้องของโรคบิด (ฝักและเมล็ด) ส่วนยาชงจากเปลือกต้นหรือรากใช้เป็นยาแก้บิดที่เกิดจากเชื้อมาลาเรีย (เปลือกต้น, ราก)
20.ใบใช้เป็นยาแก้อาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษ (ใบ, เมล็ด) ส่วนอีกข้อมูลระบุให้ใช้รากหรือทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำกินแก้อาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษ (ราก, ทั้งต้น)
21.น้ำต้มจากรากมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อท้องเสีย เช่น Salmonella (ราก)
22.ทั้งต้นและใบ้ใช้เป็นยาแก้อาการท้องผูก (ทั้งต้นและใบ)
23.รากหรือใบใช้เป็นยาถ่าย ยาระบาย (ใบ)
24.ใบหรือฝักใช้ต้มกินเป็นยาถ่ายพยาธิ (ใบ, ฝัก) หรือจะใช้รากเป็นยาถ่ายพยาธิก็ได้ (ราก)
25.รากหรือทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ ฆ่าเชื้อโรค รักษาโรคทางเดินปัสสาวะและนิ่ว (ราก, ทั้งต้น) หรือใช้เมล็ดนำมาชงกับน้ำกินเป็นยาขับปัสสาวะ (เมล็ด)
26.ใช้รักษาโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบเรื้อรัง ด้วยการใช้เมล็ดที่คั่วจนเป็นสีน้ำตาลแล้วประมาณ 15-30 กรัม นำมาบดให้เป็นผงกินครั้งละ 0.5-1 กรัม ติดต่อกันประมาณ 10 วัน (เมล็ด)
27.หากปัสสาวะเป็นเลือด ให้ใช้ต้นสดประมาณ 30 กรัม หรือทั้งต้นและใบแห้งประมาณ 6-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน หรือจะใช้ยาชงจากเปลือกต้นหรือรากก็ได้ (ต้น, เปลือกต้น, ราก, ทั้งต้นและใบ)
28.ใช้รักษาโรคหนองใน ด้วยการใช้ต้นสด 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน หรือใช้ยาชงจากเปลือกต้นหรือราก ใช้น้ำต้มจากทั้งต้นและใบก็ได้ (ต้น, เปลือกต้น, ราก, ทั้งต้นและใบ)
29.ใช้เป็นยาดับพิษร้อนในตับ (ใบ, เมล็ด)
30.ทั้งต้นและใบ ใช้แห้งประมาณ 6-10 กรัม ส่วนใบสดให้เพิ่มอีกเท่าตัว นำมาต้มกับน้ำหรือคั้นเอาน้ำกินเป็นยาขับของเสียออกจากไต ใช้กล่อมตับ (ทั้งต้นและใบ)[8] หรือจะใช้ฝักและเมล็ดนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยากล่อมตับก็ได้ (ฝักและเมล็ด)[8]
31.ยาชงจากรากใช้เป็นยารักษาอาการบวมน้ำ รักษาโรคเดียวกับตับ (ราก)[8] หรือจะใช้เมล็ดคั่วนำมาชงกับน้ำกินเป็นยาแก้อาการบวมน้ำก็ได้ (เมล็ด)
32.ใบใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง ใช้เกลื่อนฝี ทารักษากลากเกลื้อน ผิวหนังพุพอง (ใบ) หรือจะใช้ฝักนำมาต้มกินเป็นยารักษากลากเกลื้อน (ฝัก)[8] หรือใช้เมล็ดคั่วที่นำมาบดให้เป็นผง ทำเป็นยาขี้ผึ้งทารักษาผิวหนังอักเสบ พุพอง โรคผิวหนังอักเสบ โรคผิวหนังต่าง ๆ กลากเกลื้อน ผื่นคัน ใช้ดูดหนองฝี และแก้อาการปวดบวม (เมล็ด)
33.ใบใช้ต้มกับน้ำอาบแก้ผื่นคัน (ใบ)
34.ใช้เป็นยาถอนพิษ (ฝักและเมล็ด, ทั้งต้นและใบ)
35.ใช้รักษาแมลงสัตว์กัดต่อย ด้วยการใช้ใบสดนำมาตำพอกบริเวณที่เป็น (ใบ, ทั้งต้นและใบ)
36.หากงูกัด ให้ใช้ใบสดประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มคั้นเอาน้ำกิน แล้วเอากากมาใช้พอก (ใบ, ทั้งต้นและใบ)
37.ทั้งต้นและใบใช้ตำพอกรักษาอาการบวม แก้แผลบวมอักเสบ (ทั้งต้นและใบ)
38.ใช้รักษาอาการอักเสบภายนอก ด้วยการใช้ทั้งต้นและใบสดประมาณ 30-60 กรัม นำมาตำพอกบริเวณที่เป็น หรือจะใช้เมล็ดประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินก็ช่วยรักษาอาการอักเสบได้เช่นกัน (ต้น, ใบ, เมล็ด)
39.เมล็ดคั่วใช้ชงกับน้ำกินเป็นยาแก้ปวดข้อ (เมล็ด)
ที่มา : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช – 4 ต.ค.2564
ข้อมูล : สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานฯ
สรรพคุณ : https://medthai.com/