ชะคราม (บางถิ่นเรียกว่า ช้าคราม, ชักคราม, ส่าคราม) เป็นพืชที่เติบโตง่ายบนดินเค็ม เป็นพืชล้มลุกทรงพุ่ม พบตามชายฝั่งทะเล กิ่งและก้านอวบน้ำ พองกลม ปลายใบแหลม มีนวลจับขาว ต้นอ่อนใบมีสีเขียว พอต้นแก่หรือแห้งจัดจะมีใบสีม่วงหรือชมพู ใบชะครามมีรสเค็มเพราะดูดความเค็มจากดินเข้าไป ยิ่งแก่ก็ยิ่งเค็ม ดังนั้นเวลานำมาทำอาหารมักเลือกที่ไม่แก่นัก และมีวิธีการล้างความเค็มออกจากใบชะครามก่อนนำไปปรุงอาหาร ซึ่งยังคงหลงเหลือรสเค็มอันเป็นเอกลักษณ์ของชะคราม ไม่นิยมกินสดต้องทำให้สุกก่อนกิน
ใบชะครามนำไปทำอาหารได้หลากหลายเมนู ในจังหวัดชายทะเลของไทยชาวบ้านมักนำไปปรุงอาหาร เช่น นำยอดชะครามไปต้มกินกับน้ำพริก, นำไปทำแกงหรือแกงคั่วใส่ปูใส่หอย, แกงส้ม, ไข่เจียว, ยำ เป็นต้น ใบชะครามเป็นส่วนที่กินกันมากที่สุด ในใบชะครามมีไอโอดีนอยู่มาก ช่วยป้องกันโรคคอพอกได้ บ้างก็ว่าเป็นยาแก้อาการท้องผูกได้ดี นอกจากนี้ยังช่วยรักษารากผมและแก้ผมร่วงได้ อีกส่วนที่ใช้กินเป็นยาคือรากชะคราม กินบำรุงกระดูก แก้พิษฝีภายใน แก้น้ำเหลืองไม่ดี แก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน เป็นต้น
จากข้อมูลสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศอินเดียพบว่า ชะครามมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระได้ ซึ่งตรงกับรายงานของ Jithesh และคณะ (2006) พบว่า ชะครามมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระหรือที่เรียกกันว่า สารแอนติออกซิแดนท์ (antioxidant) และช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ในอนาคตคาดว่าชะครามนี้อาจจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่นำมาแปรรูปและพัฒนาเป็นรูปแบบอาหารที่มนุษย์นิยมรับประทานเพื่อสุขภาพ และใช้เป็นพืชเพิ่มพลังงานให้แก่ประเทศไทยได้ ทั้งนี้เนื่องจากชะครามเป็นพืชที่หาง่ายพบขึ้นทั่วไปตามป่าชายเลนและที่สำคัญที่สุด สารสกัดจากต้นชะครามยังมีประโยชน์ทางการแพทย์ทางเลือกได้อีกทางหนึ่งในอนาคตซึ่งมนุษย์ไม่ควรจะละเลย
ที่มา : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช – 3 ต.ค.2564
ข้อมูล : -สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช อส.
-ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP
-https://puechkaset.com/
ภาพ : https://th.openrice.com/th/bangkok/article/