เมื่อถึงช่วงหน้าฝน นอกจากโรคภัยที่มาพร้อมกับสภาพอากาศและความชื้นที่เปลี่ยนแปลงแล้ว ยังมีอันตรายจากสัตว์มีพิษที่เราต้องระมัดระวังมากยิ่งขึ้น วันนี้คุณหมอมีคำแนะนำเรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้นจากสัตว์มีพิษมาฝากกันค่ะ
1. งู สัตว์มีพิษร้ายแรง ที่ในช่วงฤดูฝนมักหนีหลบฝนตามธรรมชาติมาที่บ้านพักอาศัย งูพิษที่พบในประเทศไทยมีทั้งหมด 3 กลุ่ม ได้แก่ งูพิษต่อระบบประสาท งูพิษต่อระบบโลหิต และงูพิษต่อระบบกล้ามเนื้อ โดยงูพิษที่พบบ่อย ได้แก่ งูเห่า งูแมวเซา งูเขียวหางไหม้ งูสามเหลี่ยม งูจงอาง งูกะปะ เป็นต้น วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น คือ ล้างบริเวณที่ถูกกัดด้วยน้ำสะอาด พยายามเคลื่อนไหวร่างกายบริเวณที่ถูกกัดให้น้อยที่สุด โดยไม่ควรขันชะเนาะหากไม่ชำนาญ งดการกรีด ดูด หรือใช้สมุนไพรพอกบริเวณที่ถูกกัดเพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อมากขึ้น และรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล
2. ตะขาบ สัตว์มีพิษที่พบได้บ่อยในสภาพอากาศชื้น เมื่อโดนตะขาบกัดจะมีอาการปวด บวม แดง แสบร้อน ในบางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะได้ ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถหายได้เอง วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น คือ ล้างผิวหนังบริเวณที่ถูกกัด รับประทานยาแก้ปวด ถ้ามีอาการปวดมากสามารถประคบอุ่นได้ อาการที่ผู้ป่วยต้องรีบไปพบแพทย์ ได้แก่ มีอาการแพ้พิษตะขาบรุนแรง เช่น แน่นหน้าอก หายใจหอบเหนื่อยหลังโดนกัด หรือในกรณีที่ไม่แน่ใจว่าสัตว์ที่กัดเป็นตะขาบหรืองูพิษ
3. แมงป่อง บริเวณปล้องหางแมงป่องจะมีต่อมพิษและอวัยวะที่ใช้ต่อย ผู้ที่โดนต่อยส่วนมากมักมีแค่อาการเฉพาะที่ ได้แก่ ปวด บวม แดง ร้อน และมักหายได้เองภายใน 1-2 วัน ในกรณีที่มีอาการรุนแรงจะมีภาวะหัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว ความดันโลหิตสูง ปวดตามร่างกาย ไปจนถึงอาการชักเกร็งได้วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น คือ ล้างบริเวณที่ถูกกัด หากมีอาการปวดบวมมากสามารถประคบเย็นหรือรับประทานยาแก้ปวดได้ ในรายที่มีอาการรุนแรงควรไปพบแพทย์โดยเร็ว
4. แมลงก้นกระดก แมลงชนิดนี้จะอาศัยในที่ชื้นใกล้แหล่งน้ำ พบผู้ป่วยโดนพิษมากที่สุดในช่วงฤดูฝน แมลงก้นกระดกสามารถปล่อยสารที่เรียกว่า Pederin ออกมา โดยสารชนิดนี้จะทำลายเนื้อเยื่อผิวหนัง ทำให้มีอาการแสบร้อนหรือคันบริเวณที่สัมผัส อาการผื่นผิวหนังมักยังไม่เกิดทันทีที่สัมผัส แต่จะเริ่มเกิดผื่นแดงและอาการแสบเมื่อผ่านไปประมาณ 24 ชั่วโมง โดยผื่นมักมีลักษณะเป็นทางยาว วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น คือ ให้รีบล้างผิวหนังด้วยน้ำเปล่าทันที ประคบเย็นบริเวณที่สัมผัสโดน ถ้าผิวหนังเกิดเพียงรอยแดงเล็กน้อยสามารถหายเองได้ใน 2-3 วัน แต่ถ้าอาการผื่นเป็นมากขึ้นหรือมีตุ่มหนองเกิดขึ้นควรรีบไปพบแพทย์ (สยามรัฐ: 9 มิ.ย.2563)
ที่มา : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช – 11 ก.ย.2564
ข้อมูล : ส่วนกู้ภัยอุทยานแห่งชาติ สำนักอุทยานแห่งชาติ อส.