วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๖๔ คณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายคุ้มครองสัตว์ป่าได้ร่วมกันตรวจสอบกิจการสวนสัตว์ ชื่อ มุกดาสวนเสือและฟาร์ม ของนายสมดิษฐ์ ธรรมเวช ผู้ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะ เล่มที่ ๐๒ ฉบับที่ ๓๘ ลงวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๖๑ ตั้งอยู่เลขที่ ๒๐๐ หมู่ที่ ๑๐ บ้านโนนสว่าง ตำบลบางทรายใหญ่ อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ประจำเดือนมีนาคม ๒๕๖๔ โดยมีนายสมดิษฐ์ ธรรมเวช เป็นผู้นำตรวจ การตรวจสอบสรุปดังนี้
๑. ตรวจสอบชนิดและจำนวนสัตว์ป่าคุ้มครอง เดิมมีจำนวน ๕ ชนิด รวม ๗๖ ตัว ปัจจุบันลดลง จำนวน ๑ ตัว คือ กระจงเล็ก คงเหลือจำนวน ๕ ชนิด รวม ๗๕ ตัว ได้แก่ เสือโคร่ง ๔๑ ตัว เสือดาว ๑๕ ตัว เสือดำ ๔ ตัว เก้ง ๒ ตัว เสือลายเมฆ ๑ ตัว และกระจงเล็ก ๑๒ ตัว
๒. ตรวจสอบชนิดและจำนวนซากสัตว์ป่าคุ้มครอง เดิมมีจำนวน ๔ ชนิด รวม ๑๒ ซาก ปัจจุบันคงเดิม ได้แก่ ซากเสือโคร่ง ๙ ซาก ซากเสือดำ จำนวน ๑ ซาก ซากไก่จุก ๑ ซาก และซากเก้ง ๑ ซาก
๓.ตรวจสอบชนิดและจำนวนสัตว์ป่าตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ เดิมจำนวน ๖ ชนิด รวม ๘๙ ตัว ปัจจุบันลดลง ๑ ตัว คือนกแก้วแอฟริกันเกรย์ เพิ่มขึ้น ๒ ตัว คือ อีกัวน่า คงเหลือรวมทั้งหมด ๙๐ ได้แก่ สิงโต ๙ ตัว สิงโตขาว ๒ ตัว นกแก้วแอฟริกันเกรย์ ๓๙ ตัว ลิงลีเมอร์หางปล้อง ๒ ตัว อีกัวน่า ๓๐ ตัว นกแก้วกรีนชีค ๘ ตัว
๔.ตรวจสอบชนิดและจำนวนสัตว์ป่าต่างประเทศนอกบัญชีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ได้แก่ กวางซิกา จำนวน ๘ ตัว กวางรูซา จำนวน ๑๐ ตัว พญากระรอกบินลาว จำนวน ๖ ตัว
๕. ตรวจสอบการจัดทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ป่าคุ้มครอง พบว่าสัตว์ป่าที่มีเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ป่าจำนวน 6๕ ตัว ประกอบด้วย เสือโคร่งจำนวน ๔๑ ตัว, เสือดาว จำนวน ๑๕ ตัว เสือดำ จำนวน ๔ ตัว เก้ง จำนวน ๒ ตัว เสือลายเมฆ จำนวน ๑ ตัว และกระจงเล็ก จำนวน ๒ ตัว สำหรับสัตว์ป่าคุ้มครองที่ยังไม่ได้จัดทำเครื่องหมาย จำนวน ๑๐ ตัว คือ กระจงเล็ก
๖. ตรวจสอบพบสัตว์อื่นๆ ที่อยู่ในการครอบครองของสวนสัตว์ ได้แก่ จระเข้ จิงโจ้แดง ๑ ตัว จิงโจ้แคระ ๒ ตัว ไลเกอร์ ๓ ตัว มาร่า ๔ ตัว แรคคูน ๓ ตัว อีเห็นข้างลาย ๑๐ ตัว เม่นแอฟริกา๕ ตัว สุนัข ไก่ชน หมูป่า แพะ
๗. ตรวจสอบสภาพพื้นที่โดยทั่วไป พบว่าตกแต่งด้วยต้นไม้เล็ก – ใหญ่ทั่วบริเวณ สถานที่เลี้ยงดูสัตว์ป่า พบว่า สัตว์ป่าสามารถดำรงชีวิตได้โดยปกติสุข จำนวนและขนาดของสัตว์ป่ามีความเหมาะสมและสัมพันธ์กับขนาดของกรงเลี้ยง ไม่มีการทารุณกรรมต่อสัตว์ บริเวณสถานที่เลี้ยงดูไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงแต่อย่างใด
๘.สัตว์ป่าตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ของนายธนวัฒน์ ธรรมเวช ซึ่งเป็นบุตรชายนายสมดิษฐ์ ธรรมเวช คือ แพนด้าแดง (Ailurus fulgens) จำนวน ๓ ตัว เพศผู้ ๑ ตัว เพศเมีย ๒ ตัว ได้ถูกตรวจยึดจับกุมตามคดีอาญาที่ ๕๘/๖๒ ยึดทรัพย์ที่ ๒๐/๖๒ ผู้ฝากตกลงฝากและรับฝากรักษาเลี้ยงดูรวมทั้งการบำรุงรักษาสัตว์ป่าของกลางไว้ภายในสวนสัตว์ มุกดาสวนเสือและฟาร์ม ของนายสมดิษฐ์ ธรรมเวช ปัจจุบันสำนักอัยการจังหวัดมุกดาหารมีคำสั่งไม่ฟ้อง ตามหนังสือสำนักอัยการจังหวัดมุกดาหารที่ อส ๐๐๕๙ (มห)/๑๔๓ ลงวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๖๓ และสถานีตำรวจถูธรมุกดาหารมีหนังสือ ที่ ตช๐๐๑๙ (มห).๘๕/๕๐๙๑ ลงวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๓ เรื่อง ขอคืนของกลางคดีอาญาที่ ๕๘/๒๕๖๒ แจ้งให้สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจุฬาภรณ์ส่งมอบของกลางให้พนักงานสอบสวนจัดการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีความอาญา มาตรา ๘๕
๙. ในวันที่ตรวจสอบได้มีการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงจำนวนสัตว์ป่า ตามบันทึกสั่งการผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 ท้ายหนังสือนายสมดิษฐ์ ธรรมเวช ฉบับลงวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๔ พบลูกเสือดำ จำนวน ๑ ตัว เพศผู้ ได้จัดทำเครื่องหมายเลขไมโครชิพ หมายเลข ๙๐๐ ๐๑๒ ๐๐๑ ๐๓๒ ๑๒๐ จัดทำฐานข้อมูลเสือโคร่ง และจัดเก็บตัวอย่างพันธุกรรม (เลือด) ตรวจสอบพบซากกระจงเล็ก (ส่วนกะโหลก) และได้ทำการทำลายซากโดยการฝังกลบ ตรวจสอบไม่พบซากเสือโคร่ง (ส่วนหนัง) จำนวน ๑ ซาก ชื่อ โอล่า เจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจยึด เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๖๔ และนำซากไปเก็บรักษาไว้ที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า
๑๐. ตามที่นายสมดิษฐ์ ธรรมเวช ถูกพักใช้ใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะ “มุกดาสวนเสือและฟาร์ม” ตามหนังสือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ด่วนที่สุดที่ ทส ๐๙๐๙.๓๐๔/๑๔๓๕ ลงวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๔ ซึ่งได้สิ้นสุดระยะเวลาการพักใช้ใบอนุญาตฯ แล้ว แต่ผู้นำตรวจได้แจ้งว่า ยังไม่เปิดดำเนินกิจการสวนสัตว์ให้ประชาชนเข้าชม เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโคโรน่า ๒๐๑๙
๑๑. คณะเจ้าหน้าที่ได้พิจารณาเอกสาร หลักฐาน ประกอบการตรวจสอบข้อเท็จจริง และติดตามข้อสั่งการที่ให้ผู้นำตรวจ ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ผลปรากฎดังนี้
๑๑.๑ ให้จัดทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ป่าคุ้มครองที่ยังไม่ได้จัดทำเครื่องหมาย (กระจงจำนวน ๑๐ ตัว ) ให้เรียบร้อย และแจ้งการเปลี่ยนแปลงจำนวนสัตว์ป่าตามแบบแจ้งชนิดและจำนวนสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าวที่เพิ่มจำนวนขึ้นหรือลดจำนวนลง (สป.26) เพิ่มเติมภายใน ๖๐ วัน นับแต่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเคร่งครัด สำหรับกระจงเล็กยังไม่ได้จัดทำเครื่องหมายเนื่องจากมีฝนตกสภาพไม่เหมาะสมในการจับสัตว์เพื่อทำเครื่องหมายจึงยังไม่ดำเนินการจัดทำเกรงว่าจัดทำเครื่องหมายแล้วสัตว์จะป่วยตาย
๑๑.๒ ให้จัดทำแบบแผนตรวจสุขภาพสัตว์ป่าประจำปี จัดให้มีการบันทึกข้อมูลสำหรับสัตว์ป่า
๑๑.๓ เนื่องจากผู้ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะยังไม่ปฏิบัติตามโครงการและแผนการจัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะ และแบบแปลน แผนผัง ที่ได้ยื่นขอต่ออายุใบอนุญาตฯ และเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตฯดังนั้นหากไม่ประสงค์จะดำเนินการตามเอกสารหลักฐานที่เคยแจ้งไว้ ขอให้ดำเนินการแก้ไขโครงการและแผนการจัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะ พร้อมแบบแปลน แผนผัง กรง คอก บ่อ ที่ใช้เลี้ยงและจัดแสดงสัตว์ป่า รวมถึงสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในการประกอบกิจการสวนสัตว์สาธารณะ ที่เป็นไปตามความประสงค์ของผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะและเป็นปัจจุบัน ยื่นต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผ่านสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๙ อีกครั้ง ภายใน ๙๐ วัน ตามบันทึกการตรวจสอบกิจการสวนสัตว์ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ นั้น ปัจจุบันผู้นำตรวจแจ้งว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด
๑๑.๔ สำหรับสถานที่ประกอบการสวนสัตว์ อยู่ในระหว่างดำเนินการให้แล้วเสร็จจึงได้แนะนำให้ปรับแต่งสภาพภูมิทัศน์โดยรวมให้มีความเหมาะสม ร่มรื่น ทั้งนี้ให้ดำเนินการให้สอดคล้องกับโครงการและแผนการจัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์ ตามข้อ ๙.3
๑๑.๕ ให้ปรับปรุงพื้นที่เตรียมอาหารสัตว์ พื้นที่ในการจัดเตรียมควรมิดชิดเพื่อป้องกันการเกิดการปนเปื้อนของอาหารและแยกห้องเย็นสำหรับเก็บซากสัตว์และอาหารออกจากกันอย่างชัดเจน
๑๑.๖ ให้จัดแนวทางการให้ความรู้หรือการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ ให้มีการจัดทำป้ายให้ความรู้เกี่ยวกับสัตว์แต่ละชนิด
๑๑.๗ หากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินเร่งด่วน หรือพบการตายอย่างผิดปกติของสัตว์ในสวนสัตว์ ขอให้แจ้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผ่านทางสายด่วนพิทักษ์ป่า ๑๓๖๒ ในทันทีที่สามารถดำเนินการได้
๑๒. คณะเจ้าหน้าที่ได้ให้คำแนะนำต่อนายสมดิษฐ์ ธรรมเวช ให้ปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย รายละเอียดทั้งหมดจะได้รวบรวมรายงานให้ทราบต่อไป
นายธีระยุทธ วงศ์ไพเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า
รายงาน